ปาล พนมยงค์ (12 ธันวาคม พ.ศ. 2474 - 9 กันยายน พ.ศ. 2524) เป็นนักกฎหมาย บุตรชายคนโตของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย กับ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (สกุลเดิม: ณ ป้อมเพชร์)
ปาล พนมยงค์ เกิดวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2474 ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเพียง 6 เดือน ที่ "บ้านป้อมเพชร์" ถนนสีลม ซึ่งเป็นบ้านของมหาอำมาตย์ตรี พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) กับคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตฯ ผู้เป็นตา-ยาย เดิมมีชื่อจริงสะกดว่า "ปาน" เพราะเมื่อเกิดมีปานแดงที่หน้าผาก แต่ปานแดงได้หายไปจึงเปลี่ยนการสะกดเป็น "ปาล" ซึ่งมีความหมายว่าการปกครอง
ปาลเป็นบุตรชายคนโตของ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน คือ
เริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จากนั้นย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จนจบชั้นมัธยม 6 จึงสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมปริญญาแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) รุ่นที่ 8 หรือเรียกกันว่า รุ่น 500 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายของโรงเรียนเตรียมแห่งนี้ โดยมีเพื่อนร่วมรุ่น อาทิ นายพิศาล มูลศาสตรสาทร, ศ.ดร.เกษม สุวรรณกุล, พล.ต.อ.สนั่น ตู้จินดา, ดร.สุชาติ จุฑาสมิต, นายโอฬาริก พยัคฆาภรณ์, นายชัยรัตน์ คำนวณ ในขณะเดียวกับที่บิดาของท่านดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองและเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองด้วย
ในปี พ.ศ. 2490 ระหว่างที่กำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ของโรงเรียน ต.ม.ธ.ก. ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองโดยมีคณะบุคคลก่อการรัฐประหาร เป็นเหตุให้นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ปาลได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนสำเร็จได้ปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต เริ่มชีวิตการงานด้วยการรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศเพียงช่วงระยะสั้นๆ ก็ถูกมรสุมการเมืองเล่นงาน
ในปี พ.ศ. 2495 มีการกวาดล้างผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ท่านผู้หญิงพูนศุข และ ปาล ถูกจับในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "กบฏสันติภาพ" ในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุมครั้งนี้มีทั้งนักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ อาทิ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) ปัญญาชน นักการเมือง ไปจนถึงพระภิกษุสงฆ์ ท่านผู้หญิงพูนศุขถูกคุมขังอยู่ 84 วัน แต่เนื่องด้วยกรมอัยการได้พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีหลักฐานพอที่จะฟ้องจึงได้รับการปล่อยตัว ในขณะที่ปาลถูกส่งฟ้องศาลและพิพากษาจำคุกในข้อหากบฏเป็นเวลา 20 ปี และได้รับการลดหย่อนโทษเหลือ 13 ปี 4 เดือน แต่จำคุกอยู่ได้ 5 ปีก็ได้รับการนิรโทษกรรมใน พ.ศ. 2500
ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2500 ปาลได้อุปสมบทที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากลาสิกขาแล้วจึงเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อทำวิทยานิพนธ์ "Doctorat de 3e Cycle" ในระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้นก็ได้เข้าร่วมสัมมนาและอภิปรายกับแวดวงวิชาการในหลายประเทศ และได้ทำการสมรสครั้งแรกกับ งามชื่น นีลวัฒนานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2507 มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 2 คน คือ ชัยวัฒน์ และ ตุลยา พนมยงค์
ในปี พ.ศ. 2515 ปาลเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อประกอบอาชีพทนายความและทำสำนักพิมพ์ จัดพิมพ์งานเขียนของบิดาเพื่อจำหน่ายจ่ายแจก นอกจากนี้ยังเป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายปรีดี พนมยงค์ ในการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้ที่ละเมิดและบิดเบือนข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ โดยนำทีมทนายความต่อสู้ในคดีต่างๆ เพื่อแสดงความจริงให้ประจักษ์ ซึ่งศาลก็ตัดสินให้ชนะทุกคดี
ปาลได้ทำการสมรสครั้งที่สองกับ เลิศศรี พนมยงค์ (จตุรพฤกษ์) เมื่อ พ.ศ. 2519 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์
ต่อมาเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 รัฐบาลได้ทำการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนอย่างหนัก ปาลเกรงว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยจึงเดินทางไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นระยะเวลาปีเศษ รอจนสถานการณ์คลี่คลายจึงเดินทางกลับ ระหว่างที่พักอยู่ในฝรั่งเศสปาลเริ่มมีอาการป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลถึง 2 เดือนเต็ม ต่อมาแพทย์ได้ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งในลำไส้ใหญ่ จึงต้องเข้ารับการผ่าตัดและรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สลับกับการเดินทางไปช่วยงานบิดาที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นระยะๆ
วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2524 นายปาล พนมยงค์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งในลำใส้ใหญ่ รวมอายุได้ 49 ปี 9 เดือน
จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เคยกล่าวกับนายปาล พนมยงค์ หลังจากที่ได้รับนิรโทษกรรมและได้มาลาบวชกับจอมพล ป. ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2500 โดยจอมพล ป. ฝากข้อความไปยังนายปรีดีว่า
บอกคุณพ่อของหลานด้วยนะว่า ลุงอยากให้กลับมาช่วยลุงทำงานให้ชาติ ลุงคนเดียวสู้ศักดินาไม่ไหวแล้ว
ในขณะที่ปาลกำลังป่วยด้วยโรคมะเร็ง หมอบอกว่าคงจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดคนหนึ่งของนายปรีดี ได้บรรยายถึงภาพชีวิตของผู้ที่เป็นอาจารย์ของเขาไว้ว่า...
ตอนนั้นท่านผู้หญิง (พูนศุข) บินกลับเมืองไทยเพื่อดูแลลูกชายซึ่งป่วยหนัก ผมกำลังจะส่งวิทยานิพนธ์เลยได้ไปอาศัยอยู่กับท่าน (ปรีดี) ที่ปารีส ช่วงบ่ายวันหนึ่งเราไปเดินเล่นในสวน ท่านเดินอยู่กับผมสองคน แล้วมีเด็กๆ วิ่งเล่นอยู่ในบริเวณนั้น เมื่อมีเด็กคนหนึ่งเข้ามาใกล้ ท่านก้มลงเอามือลูบหัว หลังจากเด็กไปแล้ว ท่านแหงนหน้ามองฟ้า และหันมาพูดกับผมว่า 'ปาลนี่ไม่น่าอายุสั้นเลย ยังไม่ได้มีโอกาสทำประโยชน์ให้ประเทศชาติคุ้มกับที่เกิดมา' ผมได้ฟังแล้วน้ำตาไหล นึกถึงว่าคนที่อยู่ห่างไกลลูกชายซึ่งป่วยหนัก ไม่รู้จะมีชีวิตรอดถึงวันไหน สิ่งทีท่านนึกถึงกลายเป็นว่า ลูกชายยังไม่ได้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติอย่างคุ้มค่า ผมไม่แน่ใจว่า ผมจะได้ยินคำพูดแบบนี้จากคนอื่นในตลอดชั่วชีวิตที่เหลือ ผมประทับใจมาก และรู้สึกว่า นี่คือความผูกพันที่ท่านมีต่อประเทศไทยของเรา